Tuesday, December 11, 2007

การสวดคฤหัสถ์


คนโดยทั่วไปจะเข้าใจว่า การสวดคฤหัสถ์เป็นการเล่นที่เคยมีมาแต่ในงานศพ ที่คิดเช่นนี้ก็เนื่องมาแต่ความเคยชิน เช่นเดียวกับแลเห็นปี่พาทย์มอญ ก็ต้องคิดว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานศพทั้งสิ้น แท้จริงปี่พาทย์มอญนั้น ในประเพณีของชาวรามัญเขาบรรเลงได้ไม่ว่างานอย่างไร จะเป็นทำบุญบ้าน แต่งงาน หรืองานใดๆ เขาก็ใช้ปี่พาทย์เช่นนั้นบรรเลง แต่ไทยเราเท่านั้นที่นำมาใช้แต่ในงานศพ จึงเห็นเป็นของประจำงานศพไป สวดคฤหัสถ์ก็มีนัยอันเดียวกัน การแสดงสวดคฤหัสถ์มีบทสวดที่เรียกว่า "พื้น" อยู่ 4 อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม 1 พื้นโพชฌงค์มอญหรือหับเผย 1 พื้นพระมาลัย 1 และพื้นมหาชัย 1 แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย ก็คือพื้นพระอภิธรรม มีบทขึ้นต้นว่า "กุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา ฯลฯ" ซึ่งเราได้ยินพระภิกษุสวดประจำในงานศพอยู่เสมอ แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นธรรมคำสั่งสอนที่ดีมีมงคลอยู่ในตัวทั้งสิ้น หามีบทใดตอนหนึ่งที่จะเป็นสิ่งอัปมงคลไม่ ยิ่งพระอภิธรรมซึ่งแปลว่า ธรรมอย่างยิ่งหรืออย่างสูง จะถือว่าเป็นอัปมงคลได้อย่างไร บทกุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา นี้เป็นหลักแห่งหมวด 3 ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่เรียกว่า 1 กุสลติก" กล่าวถึงเรื่องธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต ตลอดไปตนสังขารวิญญาณ ล้วนแต่เป็นคำสั่งสอนให้รู้จักพิจารณาทั้งสิ้น แต่การที่มีประเพณีนำบทพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ ก็น่าจะเนื่องมาจากดำเนินรอยตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้นำพระอภิธรรมไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อชาวพุทธศาสนิกชนจะบำเพ็ญกุศลอุทิศแทนคุณบิดามารดา และบุพการีโดยเฉพาะงานศพของท่านเหล่านั้น จึงนำบทพระอภิธรรมมาใช้เป็นบทสวดหน้าศพ เสมือนหนึ่งสวดให้ท่านผู้นั้นฟัง และก็ได้ใช้สืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี แต่แท้ที่จริงแล้ว พระอภิธรรมย่อมเป็นธรรมอย่างสูงอันควรฟังได้ทุกเวลาสถานที่
การแสดงสวดคฤหัสถ์ ได้สืบต่อเปลี่ยนแปลงมาจากการสวดพระอภิธรรมของพระภิกษุ สิ่งประกอบที่ยังแสดงให้เห็นประจักษ์อยู่ก็คือ มีนักสวด 4 คน เรียกว่า "สำรับ" ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า บทขึ้นต้นใช้พระธรรมที่พระภิกษุสวด และการแสดงนี้ยังเรียกกันว่า "สวด" สวดคฤหัสถ์เป็นการแสดงที่นำความสนุกสนานครึกครื้นมาสู่ท่านผู้ชมเป็นอันมากอย่างหนึ่ง ซึ่งมีมาแต่ในสมัยโบราณ ผู้ที่สวดทั้ง 4 คน มีหน้าที่ปฏิบัติต่างกัน คอยรับคอยสอดประสมประสานกันตลอดไป ตำแหน่งของนักสวดทั้ง 4 ซึ่งนั่งเรียงกันนับจากซ้ายไปขวาของผู้ชมมีดังนี้

1. ตัวตุ๊ย คือ ตัวตลก มีหน้าที่ทำความขบขันให้แก่ผู้ชม สิ่งใดที่จะนำความขบขันมาสู่ จะเป็นการขัดแย้งหรือโลดโผนใดๆก็ได้ทั้งสิ้น แต่จะต้องอยู่ในแบบแผนรักษาแนวทางมิให้ออกนอกลู่นอกทางไป



2. แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ทั้งต้องเป็นหลักซักไซ้นำให้เกิดข้อขบขันจากตัวตลกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นหลักสำคัญของสำรับนั่นเอง



3. คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม และเป็นหลักในการร้องเมื่อแม่คู่ได้ขึ้นต้นบทมาแล้ว



4. ตัวภาษา มีหน้าที่เป็นตัวเอกในทางสวยงาม เช่น เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง เป็นต้น ผู้มีตำแหน่งนี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆได้ชัดเจน



วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์



วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์เฉพาะพื้นพระอภิธรรม เริ่มต้นด้วยการลองเสียงเป็นทำนองแต่ไม่มีถ้อยคำ มีแต่ร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วก็หาทางสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตี และตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วหันเข้าบทพระธรรมอีกนิดหน่อย ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ มีติดตลกเล็กๆน้อยๆ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราวเพื่อให้ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาออกรำทำบทประกอบ ต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่นๆต่อไป
การแสดงชุดต่างๆของสวดคฤหัสถ์นี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น แต่ก็มิได้วางไว้ตายตัวว่าจะต้องเรียงลำดับอย่างไร แล้วแต่ความพอใจของคณะ ซึ่งแต่ละชุดก็มีวิธีการนำความขบขันมาสู่ผู้ชมต่างๆกัน และชุดหนึ่งก็กินเวลามิใช่น้อย โดยปกติที่เล่นกันตามวัดหรือบ้าน จะลงมือเล่นกันแต่ตอนค่ำ บางทีก็ไปเลิกจนรุ่งสว่าง

คำว่า "เบญจพรรณ" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไว้ว่า "แม่สีทั้งห้า คือ ขาว ดำ เหลือง เขียวแดง, ห้าชนิด, หลายอย่าง, เรียกต้นไม้ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกัน"
คำแปลที่ว่า หลายอย่าง" นั้น ในที่นี้ตรงกับความหมายในด้านการแสดงมหรสพ เมื่อพูดถึงคำว่าเบญจพรรณแล้วย่อมเป็นที่รู้กันวงศิลปินสมัยก่อนทุกท่าน ว่าหมายถึงการแสดงหลายๆอย่าง ที่นำมาระคนเข้าในที่อันเดียวกัน เช่นการแสดงเป็นตัวเทวดาของตัวตลกละครหรือลิเก ก็มักจะแทรกการแสดงเบญจพรรณเพื่อความตลกขบขันในตอนนี้ การแสดงเบญจพรรณของตัวเทวดาตลกนี้ ตามแบบแผนโบราณมีอยู่ 2 ชนิด คือ "เบญจพรรณร้อง" และ "เบญจพรรณหน้าพาทย์"
การแสดงเบญจพรรณร้อง มีวิธีแสดงดังนี้ ตัวเทวดาตลก ซึ่งมักแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันวิตถาร เพื่อจูงใจให้เกิดความขบขันตั้งแต่แรกเห็น เช่นนุ่งผ้าเกี้ยวหยักรั้งสวมสังวาลกับตัวเปล่าอย่างละครโนห์ราชาตรีโบราณ สวมชฎาเก่าๆหักๆ และต่อยอดด้วยสิ่งที่มีรูปลักษณะน่าเกลียดต่างๆ เช่น กระจ่า เป็นต้น ใช้ฝุ่นผัดหน้าป้ายลงมาตรงกลางตั้งแต่หน้าผากตลอดคางเป็นทางยาว ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ออกมายืนบนเตียงหน้าฉากแล้ว (เทวดาตลกมักไม่นั่งเหมือนตัวอื่นๆ เพราะการยืนสามารถทำบทบาทได้มากกว่า) ก็จะร้องเพลงโนเน ซึ่งมักมีบทว่า "จะกล่าวถึงเทวาสุราฤทธิ์ ..." การร้องเพลงโนเนนี้ โดยปกติลูกคู่จะต้องรับเป็นทำนองซึ่งมีบทว่า "โนเนโนช้า ไม่รักไม่มาเลยเอย" แต่ลูกคู่ก็หารับเพลงนั้นไม่ แกล้งไปรับเสียเป็นเพลงอื่น เช่น แกล้งรับเป็นทำนองญวนว่า "เฮ้ว เฮ้วกวางกะย่อฮ่อกวาง..." เป็นต้น ตัวเทวดาก็จะต่อว่าลูกคู่หาว่ารับผิดเพลง พวกลูกคู่ก็จะตอบว่า "หางเสียงแหย่ไปเพลงนั้นนี่" ตัวเทวดาก็ตกลง เปลี่ยนไปร้องเพลงญวนตามที่ลูกคู่ได้ร้องรับไปแล้วนั้น แต่ลูกคู่ก็เปลี่ยนไปรับเพลงอื่นเสียอีก เช่น แกล้งรับเป็นทำนองลาวว่า "จ้อยแม่นาสูกำพร้าเรียมเอย..." เป็นต้น เทวดาก็ต่อว่าอีก ลูกคู่ก็แก้ว่าหางเสียงแหย่ไปอย่างนั้นอีก ตัวเทวดาจะต้องร้องตามเพลงที่ลูกคู่ร้องรับนั้นทุกๆเพลง และลูกคู่ก็แกล้งรับเชือนไปเสียทุกๆเพลง ซึ่งผู้แสดงเทวดาตลกออกเบญจพรรณร้องนี้ จะต้องสามารถร้องเพลงเบ็ดเตล็ดได้มากพอที่จะร้องตามลูกคู่ได้ เมื่อเปลี่ยนร้องเพลงไปหลายเพลงพอสมควรแล้ว ตัวเทวดาก็ทำโกรธเลิกร้อง บอกปี่พาทย์ให้ทำเพลงเชิดทีเดียว ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปเล่นเบญจพรรณหน้าพาทย์ต่อไป
การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์ เป็นการเล่นระหว่างเทวดาตลกกับปี่พาทย์ เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงเชิดให้เทวดาไป ตัวเทวดารำทำท่าเชิดไปได้สักเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน ตัวเทวดาก็รำย่อตัวลงไปๆ และทำประหนึ่งพยายามสดับเสียงเพลง หรือเที่ยวหาปี่พาทย์ตามใต้เสื่อใต้เตียงบ้าง ครั้นแล้วปี่พาทย์ก็ตีกระโชกดังขึ้นดังเดิม ตัวเทวดาก็สะดุ้งตกใจรำถลาไป แล้วปี่พาทย์ก็ตีให้เบาลงเช่นเดิมอีก ต่อจากนั้นปี่พาทย์จะหยุดชะงัก จนตัวเทวดารำค้างแทบยั้งไม่ทัน ครั้นตัวเทวดาต่อว่า และอ้อนวอนขอให้ปี่พาทย์ทำต่อไป ปี่พาทย์ก็จะเปลี่ยนเป็นทำนองเพลงลงสรง พอตัวเทวดาต่อว่า ทางปี่พาทย์ก็บอกว่าจะไปไหนก็ต้องอาบน้ำเสียก่อน เทวดาก็ต้องรำเพลงลงสรงไปตามเพลง พอถึงท่ากอบน้ำขึ้นจะบ้วนปาก ปี่พาทย์ก็หยุดให้รำค้างอยู่เพียงนั้น ครั้นเทวดาต่อว่ากันเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น เช่น กราวในบ้าง กราวนอกบ้าง และหยุดในท่าสำคัญๆที่จะทำให้ยืนไม่อยู่ทั้งนั้น เช่น ท่ารำที่กำลังยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เทวดาก็ต้องรำตามหน้าพาทย์นั้นทุกเพลง ในตอนท้ายปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงทยอยสลับกับโอด ตอนแรกๆก็สลับกันห่างพอสมควร แต่ท้ายที่สุดก็สั้นและเร็วเข้า เป็นโอดหน่อยทยอยนิด จนตัวเทวดารำไม่ทัน ในที่สุดปี่พาทย์ก็ทำเพลงเชิดให้ไปได้ตามเนื้อเรื่อง การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์นี้ ผู้แสดงเป็นเทวดาจะต้องสามารถรำหน้าพาทย์ได้ทุกเพลง และฝ่ายปี่พาทย์ก็จะต้องรู้ท่ารำ เพราะจะต้องหยุดลงในท่ารำที่จะทำให้เกิดความขบขันได้

No comments: