Sunday, December 16, 2007

การลอยกระทง


เทศกาลลอยกระทง


ประวัติความเป็นมา
คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ประวัติการลอยกระทงในเมืองไทย
การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะ บูชาการลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ
1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์
2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก
ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี
เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดีเมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา "สาธุ โข ปพฺพชฺชา" แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลกพระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้วย
ตำนานการลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ยังมีพิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็น 2 ระยะ จะทำในกำหนดใดก็ได้
ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม
นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปกากินแล้วหลงทานกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางหนึ่ง เมื่อแม่กาย้อนกลับมามีรังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โคและแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้
คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป
ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้
ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์
ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ
ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยพระพุทธเจ้า
3 พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย
ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์
การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานความเป็นมาดังนี้เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "อโศการาม" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วันแต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิมพระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคล ฯลฯ
****************

วันสงกรานต์



ประเพณีวันสงกรานต์

ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดยย่อว่า มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า


ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด


ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฆปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่างๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร

คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึง วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก
ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้ สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้

วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ
ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์- การเตรียมงาน


วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้


๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน


๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิศษ ๒ อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ


๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง


๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย


*****************

พิธ๊ไหว้ครู ของการรำโขน


พิธีไหว้ครู ของการรำโขน


ไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 2 ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตากรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอกออกผลอย่างงดงาม ในความสำคัญของการไหว้ครูมีผู้กล่าวไว้ดังนี้

"ประเพณีการไหว้ครูมีมาแต่โบราณ คนไทยเป็นคนที่มีกตัญญูอย่างแรงกล้า และได้รับการอบรมต่อๆกันมาให้เป็นผู้มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใดๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามาก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิด หรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครูถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนศิลปการดนตรี และนาฏศิลป เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ"


"โขน และละครรำเป็นศิลปะที่ถือเอากระบวนการเต้นกระบวนการรำเป็นสำคัญ เพราะการเล่นโขนเล่นละครเป็นศิลปะที่ประณีตมาก จะต้องฝึกหัดกันนานๆ จึงจะเล่นเป็นตัวดีได้ บรรดาศิษย์ที่เข้ารับการฝึกได้จึงหัดกันมาแต่เด็กๆ เมื่อหัดรำเพลงช้า และเพลงเร็วได้แล้วก็นับว่ารำเป็น พอจะออกเล่นออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงจะกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครู ถ้าหัดปี่พาทย์เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบก็นับว่าตีเป็นพอที่จะออกงาน เช่น บรรเลงในการสวดมนต์เย็น หรือฉันเช้าได้ก็ให้ไหว้ครูเช่นกัน และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นเต้นรำทำเพลงได้ดีแล้ว ครูจึง "ครอบ" ให้ เท่ากับอนุญาตให้เป็นโขนละครได้ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนศิษย์นั้นๆได้ประกาศนียบัตรประกาศความเป็นโขนละคอนแล้ว นี้เป็นแบบแผนที่มีมาแต่โบราณ"


"พิธีไหว้ครูที่ปฏิบัติกันเคร่งครัด ได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลง และท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู และพิธีครอบเสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนกล้าหัดให้ศิษย์ ด้วยเชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอน และแก่ศิษย์เองด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นก็จะกล่าวกันว่า "ครูแรง" เหตุนี้โรงเรียนนาฏศิลป ของกรมศิลปากรจึงได้กำหนดงานพิธีไหว้ครู และพิธีครอบขึ้นเป็นประจำปีละครั้งในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นวันครูในตอนต้นภาคเรียนแรกแต่ละปีการศึกษา ทำนองเดียวกับโรงเรียนต่างๆ เพียงแต่มีพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์เพิ่มจากไหว้ครูธรรมดา และมีพิธีครอบประกอบด้วย เพื่อครู ศิษย์ และนักเรียนจะได้เริ่มสอนเริ่มเรียนกันไปอย่างเรียบร้อย และสบายใจ"



**********************

Tuesday, December 11, 2007

การสวดคฤหัสถ์


คนโดยทั่วไปจะเข้าใจว่า การสวดคฤหัสถ์เป็นการเล่นที่เคยมีมาแต่ในงานศพ ที่คิดเช่นนี้ก็เนื่องมาแต่ความเคยชิน เช่นเดียวกับแลเห็นปี่พาทย์มอญ ก็ต้องคิดว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานศพทั้งสิ้น แท้จริงปี่พาทย์มอญนั้น ในประเพณีของชาวรามัญเขาบรรเลงได้ไม่ว่างานอย่างไร จะเป็นทำบุญบ้าน แต่งงาน หรืองานใดๆ เขาก็ใช้ปี่พาทย์เช่นนั้นบรรเลง แต่ไทยเราเท่านั้นที่นำมาใช้แต่ในงานศพ จึงเห็นเป็นของประจำงานศพไป สวดคฤหัสถ์ก็มีนัยอันเดียวกัน การแสดงสวดคฤหัสถ์มีบทสวดที่เรียกว่า "พื้น" อยู่ 4 อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม 1 พื้นโพชฌงค์มอญหรือหับเผย 1 พื้นพระมาลัย 1 และพื้นมหาชัย 1 แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย ก็คือพื้นพระอภิธรรม มีบทขึ้นต้นว่า "กุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา ฯลฯ" ซึ่งเราได้ยินพระภิกษุสวดประจำในงานศพอยู่เสมอ แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นธรรมคำสั่งสอนที่ดีมีมงคลอยู่ในตัวทั้งสิ้น หามีบทใดตอนหนึ่งที่จะเป็นสิ่งอัปมงคลไม่ ยิ่งพระอภิธรรมซึ่งแปลว่า ธรรมอย่างยิ่งหรืออย่างสูง จะถือว่าเป็นอัปมงคลได้อย่างไร บทกุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา นี้เป็นหลักแห่งหมวด 3 ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่เรียกว่า 1 กุสลติก" กล่าวถึงเรื่องธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต ตลอดไปตนสังขารวิญญาณ ล้วนแต่เป็นคำสั่งสอนให้รู้จักพิจารณาทั้งสิ้น แต่การที่มีประเพณีนำบทพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ ก็น่าจะเนื่องมาจากดำเนินรอยตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้นำพระอภิธรรมไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อชาวพุทธศาสนิกชนจะบำเพ็ญกุศลอุทิศแทนคุณบิดามารดา และบุพการีโดยเฉพาะงานศพของท่านเหล่านั้น จึงนำบทพระอภิธรรมมาใช้เป็นบทสวดหน้าศพ เสมือนหนึ่งสวดให้ท่านผู้นั้นฟัง และก็ได้ใช้สืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี แต่แท้ที่จริงแล้ว พระอภิธรรมย่อมเป็นธรรมอย่างสูงอันควรฟังได้ทุกเวลาสถานที่
การแสดงสวดคฤหัสถ์ ได้สืบต่อเปลี่ยนแปลงมาจากการสวดพระอภิธรรมของพระภิกษุ สิ่งประกอบที่ยังแสดงให้เห็นประจักษ์อยู่ก็คือ มีนักสวด 4 คน เรียกว่า "สำรับ" ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า บทขึ้นต้นใช้พระธรรมที่พระภิกษุสวด และการแสดงนี้ยังเรียกกันว่า "สวด" สวดคฤหัสถ์เป็นการแสดงที่นำความสนุกสนานครึกครื้นมาสู่ท่านผู้ชมเป็นอันมากอย่างหนึ่ง ซึ่งมีมาแต่ในสมัยโบราณ ผู้ที่สวดทั้ง 4 คน มีหน้าที่ปฏิบัติต่างกัน คอยรับคอยสอดประสมประสานกันตลอดไป ตำแหน่งของนักสวดทั้ง 4 ซึ่งนั่งเรียงกันนับจากซ้ายไปขวาของผู้ชมมีดังนี้

1. ตัวตุ๊ย คือ ตัวตลก มีหน้าที่ทำความขบขันให้แก่ผู้ชม สิ่งใดที่จะนำความขบขันมาสู่ จะเป็นการขัดแย้งหรือโลดโผนใดๆก็ได้ทั้งสิ้น แต่จะต้องอยู่ในแบบแผนรักษาแนวทางมิให้ออกนอกลู่นอกทางไป



2. แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ทั้งต้องเป็นหลักซักไซ้นำให้เกิดข้อขบขันจากตัวตลกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นหลักสำคัญของสำรับนั่นเอง



3. คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม และเป็นหลักในการร้องเมื่อแม่คู่ได้ขึ้นต้นบทมาแล้ว



4. ตัวภาษา มีหน้าที่เป็นตัวเอกในทางสวยงาม เช่น เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง เป็นต้น ผู้มีตำแหน่งนี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆได้ชัดเจน



วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์



วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์เฉพาะพื้นพระอภิธรรม เริ่มต้นด้วยการลองเสียงเป็นทำนองแต่ไม่มีถ้อยคำ มีแต่ร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วก็หาทางสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตี และตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วหันเข้าบทพระธรรมอีกนิดหน่อย ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ มีติดตลกเล็กๆน้อยๆ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราวเพื่อให้ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาออกรำทำบทประกอบ ต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่นๆต่อไป
การแสดงชุดต่างๆของสวดคฤหัสถ์นี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น แต่ก็มิได้วางไว้ตายตัวว่าจะต้องเรียงลำดับอย่างไร แล้วแต่ความพอใจของคณะ ซึ่งแต่ละชุดก็มีวิธีการนำความขบขันมาสู่ผู้ชมต่างๆกัน และชุดหนึ่งก็กินเวลามิใช่น้อย โดยปกติที่เล่นกันตามวัดหรือบ้าน จะลงมือเล่นกันแต่ตอนค่ำ บางทีก็ไปเลิกจนรุ่งสว่าง

คำว่า "เบญจพรรณ" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไว้ว่า "แม่สีทั้งห้า คือ ขาว ดำ เหลือง เขียวแดง, ห้าชนิด, หลายอย่าง, เรียกต้นไม้ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกัน"
คำแปลที่ว่า หลายอย่าง" นั้น ในที่นี้ตรงกับความหมายในด้านการแสดงมหรสพ เมื่อพูดถึงคำว่าเบญจพรรณแล้วย่อมเป็นที่รู้กันวงศิลปินสมัยก่อนทุกท่าน ว่าหมายถึงการแสดงหลายๆอย่าง ที่นำมาระคนเข้าในที่อันเดียวกัน เช่นการแสดงเป็นตัวเทวดาของตัวตลกละครหรือลิเก ก็มักจะแทรกการแสดงเบญจพรรณเพื่อความตลกขบขันในตอนนี้ การแสดงเบญจพรรณของตัวเทวดาตลกนี้ ตามแบบแผนโบราณมีอยู่ 2 ชนิด คือ "เบญจพรรณร้อง" และ "เบญจพรรณหน้าพาทย์"
การแสดงเบญจพรรณร้อง มีวิธีแสดงดังนี้ ตัวเทวดาตลก ซึ่งมักแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันวิตถาร เพื่อจูงใจให้เกิดความขบขันตั้งแต่แรกเห็น เช่นนุ่งผ้าเกี้ยวหยักรั้งสวมสังวาลกับตัวเปล่าอย่างละครโนห์ราชาตรีโบราณ สวมชฎาเก่าๆหักๆ และต่อยอดด้วยสิ่งที่มีรูปลักษณะน่าเกลียดต่างๆ เช่น กระจ่า เป็นต้น ใช้ฝุ่นผัดหน้าป้ายลงมาตรงกลางตั้งแต่หน้าผากตลอดคางเป็นทางยาว ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ออกมายืนบนเตียงหน้าฉากแล้ว (เทวดาตลกมักไม่นั่งเหมือนตัวอื่นๆ เพราะการยืนสามารถทำบทบาทได้มากกว่า) ก็จะร้องเพลงโนเน ซึ่งมักมีบทว่า "จะกล่าวถึงเทวาสุราฤทธิ์ ..." การร้องเพลงโนเนนี้ โดยปกติลูกคู่จะต้องรับเป็นทำนองซึ่งมีบทว่า "โนเนโนช้า ไม่รักไม่มาเลยเอย" แต่ลูกคู่ก็หารับเพลงนั้นไม่ แกล้งไปรับเสียเป็นเพลงอื่น เช่น แกล้งรับเป็นทำนองญวนว่า "เฮ้ว เฮ้วกวางกะย่อฮ่อกวาง..." เป็นต้น ตัวเทวดาก็จะต่อว่าลูกคู่หาว่ารับผิดเพลง พวกลูกคู่ก็จะตอบว่า "หางเสียงแหย่ไปเพลงนั้นนี่" ตัวเทวดาก็ตกลง เปลี่ยนไปร้องเพลงญวนตามที่ลูกคู่ได้ร้องรับไปแล้วนั้น แต่ลูกคู่ก็เปลี่ยนไปรับเพลงอื่นเสียอีก เช่น แกล้งรับเป็นทำนองลาวว่า "จ้อยแม่นาสูกำพร้าเรียมเอย..." เป็นต้น เทวดาก็ต่อว่าอีก ลูกคู่ก็แก้ว่าหางเสียงแหย่ไปอย่างนั้นอีก ตัวเทวดาจะต้องร้องตามเพลงที่ลูกคู่ร้องรับนั้นทุกๆเพลง และลูกคู่ก็แกล้งรับเชือนไปเสียทุกๆเพลง ซึ่งผู้แสดงเทวดาตลกออกเบญจพรรณร้องนี้ จะต้องสามารถร้องเพลงเบ็ดเตล็ดได้มากพอที่จะร้องตามลูกคู่ได้ เมื่อเปลี่ยนร้องเพลงไปหลายเพลงพอสมควรแล้ว ตัวเทวดาก็ทำโกรธเลิกร้อง บอกปี่พาทย์ให้ทำเพลงเชิดทีเดียว ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปเล่นเบญจพรรณหน้าพาทย์ต่อไป
การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์ เป็นการเล่นระหว่างเทวดาตลกกับปี่พาทย์ เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงเชิดให้เทวดาไป ตัวเทวดารำทำท่าเชิดไปได้สักเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน ตัวเทวดาก็รำย่อตัวลงไปๆ และทำประหนึ่งพยายามสดับเสียงเพลง หรือเที่ยวหาปี่พาทย์ตามใต้เสื่อใต้เตียงบ้าง ครั้นแล้วปี่พาทย์ก็ตีกระโชกดังขึ้นดังเดิม ตัวเทวดาก็สะดุ้งตกใจรำถลาไป แล้วปี่พาทย์ก็ตีให้เบาลงเช่นเดิมอีก ต่อจากนั้นปี่พาทย์จะหยุดชะงัก จนตัวเทวดารำค้างแทบยั้งไม่ทัน ครั้นตัวเทวดาต่อว่า และอ้อนวอนขอให้ปี่พาทย์ทำต่อไป ปี่พาทย์ก็จะเปลี่ยนเป็นทำนองเพลงลงสรง พอตัวเทวดาต่อว่า ทางปี่พาทย์ก็บอกว่าจะไปไหนก็ต้องอาบน้ำเสียก่อน เทวดาก็ต้องรำเพลงลงสรงไปตามเพลง พอถึงท่ากอบน้ำขึ้นจะบ้วนปาก ปี่พาทย์ก็หยุดให้รำค้างอยู่เพียงนั้น ครั้นเทวดาต่อว่ากันเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น เช่น กราวในบ้าง กราวนอกบ้าง และหยุดในท่าสำคัญๆที่จะทำให้ยืนไม่อยู่ทั้งนั้น เช่น ท่ารำที่กำลังยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เทวดาก็ต้องรำตามหน้าพาทย์นั้นทุกเพลง ในตอนท้ายปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงทยอยสลับกับโอด ตอนแรกๆก็สลับกันห่างพอสมควร แต่ท้ายที่สุดก็สั้นและเร็วเข้า เป็นโอดหน่อยทยอยนิด จนตัวเทวดารำไม่ทัน ในที่สุดปี่พาทย์ก็ทำเพลงเชิดให้ไปได้ตามเนื้อเรื่อง การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์นี้ ผู้แสดงเป็นเทวดาจะต้องสามารถรำหน้าพาทย์ได้ทุกเพลง และฝ่ายปี่พาทย์ก็จะต้องรู้ท่ารำ เพราะจะต้องหยุดลงในท่ารำที่จะทำให้เกิดความขบขันได้

การแสดงเบญจพรรณ

การแสดงเบญจพรรณหรือเทวดาเบญจพรรณ
คำว่า "เบญจพรรณ" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไว้ว่า "แม่สีทั้งห้า คือ ขาว ดำ เหลือง เขียวแดง, ห้าชนิด, หลายอย่าง, เรียกต้นไม้ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกัน"
คำแปลที่ว่า หลายอย่าง" นั้น ในที่นี้ตรงกับความหมายในด้านการแสดงมหรสพ เมื่อพูดถึงคำว่าเบญจพรรณแล้วย่อมเป็นที่รู้กันวงศิลปินสมัยก่อนทุกท่าน ว่าหมายถึงการแสดงหลายๆอย่าง ที่นำมาระคนเข้าในที่อันเดียวกัน เช่นการแสดงเป็นตัวเทวดาของตัวตลกละครหรือลิเก ก็มักจะแทรกการแสดงเบญจพรรณเพื่อความตลกขบขันในตอนนี้ การแสดงเบญจพรรณของตัวเทวดาตลกนี้ ตามแบบแผนโบราณมีอยู่ ๒ ชนิด คือ "เบญจพรรณร้อง" และ "เบญจพรรณหน้าพาทย์"
การแสดงเบญจพรรณร้อง มีวิธีแสดงดังนี้ ตัวเทวดาตลก ซึ่งมักแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันวิตถาร เพื่อจูงใจให้เกิดความขบขันตั้งแต่แรกเห็น เช่นนุ่งผ้าเกี้ยวหยักรั้งสวมสังวาลกับตัวเปล่าอย่างละครโนห์ราชาตรีโบราณ สวมชฎาเก่าๆหักๆ และต่อยอดด้วยสิ่งที่มีรูปลักษณะน่าเกลียดต่างๆ เช่น กระจ่า เป็นต้น ใช้ฝุ่นผัดหน้าป้ายลงมาตรงกลางตั้งแต่หน้าผากตลอดคางเป็นทางยาว ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ออกมายืนบนเตียงหน้าฉากแล้ว (เทวดาตลกมักไม่นั่งเหมือนตัวอื่นๆ เพราะการยืนสามารถทำบทบาทได้มากกว่า) ก็จะร้องเพลงโนเน ซึ่งมักมีบทว่า "จะกล่าวถึงเทวาสุราฤทธิ์ ..." การร้องเพลงโนเนนี้ โดยปกติลูกคู่จะต้องรับเป็นทำนองซึ่งมีบทว่า "โนเนโนช้า ไม่รักไม่มาเลยเอย" แต่ลูกคู่ก็หารับเพลงนั้นไม่ แกล้งไปรับเสียเป็นเพลงอื่น เช่น แกล้งรับเป็นทำนองญวนว่า "เฮ้ว เฮ้วกวางกะย่อฮ่อกวาง..." เป็นต้น ตัวเทวดาก็จะต่อว่าลูกคู่หาว่ารับผิดเพลง พวกลูกคู่ก็จะตอบว่า "หางเสียงแหย่ไปเพลงนั้นนี่" ตัวเทวดาก็ตกลง เปลี่ยนไปร้องเพลงญวนตามที่ลูกคู่ได้ร้องรับไปแล้วนั้น แต่ลูกคู่ก็เปลี่ยนไปรับเพลงอื่นเสียอีก เช่น แกล้งรับเป็นทำนองลาวว่า "จ้อยแม่นาสูกำพร้าเรียมเอย..." เป็นต้น เทวดาก็ต่อว่าอีก ลูกคู่ก็แก้ว่าหางเสียงแหย่ไปอย่างนั้นอีก ตัวเทวดาจะต้องร้องตามเพลงที่ลูกคู่ร้องรับนั้นทุกๆเพลง และลูกคู่ก็แกล้งรับเชือนไปเสียทุกๆเพลง ซึ่งผู้แสดงเทวดาตลกออกเบญจพรรณร้องนี้ จะต้องสามารถร้องเพลงเบ็ดเตล็ดได้มากพอที่จะร้องตามลูกคู่ได้ เมื่อเปลี่ยนร้องเพลงไปหลายเพลงพอสมควรแล้ว ตัวเทวดาก็ทำโกรธเลิกร้อง บอกปี่พาทย์ให้ทำเพลงเชิดทีเดียว ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปเล่นเบญจพรรณหน้าพาทย์ต่อไป
การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์ เป็นการเล่นระหว่างเทวดาตลกกับปี่พาทย์ เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงเชิดให้เทวดาไป ตัวเทวดารำทำท่าเชิดไปได้สักเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน ตัวเทวดาก็รำย่อตัวลงไปๆ และทำประหนึ่งพยายามสดับเสียงเพลง หรือเที่ยวหาปี่พาทย์ตามใต้เสื่อใต้เตียงบ้าง ครั้นแล้วปี่พาทย์ก็ตีกระโชกดังขึ้นดังเดิม ตัวเทวดาก็สะดุ้งตกใจรำถลาไป แล้วปี่พาทย์ก็ตีให้เบาลงเช่นเดิมอีก ต่อจากนั้นปี่พาทย์จะหยุดชะงัก จนตัวเทวดารำค้างแทบยั้งไม่ทัน ครั้นตัวเทวดาต่อว่า และอ้อนวอนขอให้ปี่พาทย์ทำต่อไป ปี่พาทย์ก็จะเปลี่ยนเป็นทำนองเพลงลงสรง พอตัวเทวดาต่อว่า ทางปี่พาทย์ก็บอกว่าจะไปไหนก็ต้องอาบน้ำเสียก่อน เทวดาก็ต้องรำเพลงลงสรงไปตามเพลง พอถึงท่ากอบน้ำขึ้นจะบ้วนปาก ปี่พาทย์ก็หยุดให้รำค้างอยู่เพียงนั้น ครั้นเทวดาต่อว่ากันเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น เช่น กราวในบ้าง กราวนอกบ้าง และหยุดในท่าสำคัญๆที่จะทำให้ยืนไม่อยู่ทั้งนั้น เช่น ท่ารำที่กำลังยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เทวดาก็ต้องรำตามหน้าพาทย์นั้นทุกเพลง ในตอนท้ายปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงทยอยสลับกับโอด ตอนแรกๆก็สลับกันห่างพอสมควร แต่ท้ายที่สุดก็สั้นและเร็วเข้า เป็นโอดหน่อยทยอยนิด จนตัวเทวดารำไม่ทัน ในที่สุดปี่พาทย์ก็ทำเพลงเชิดให้ไปได้ตามเนื้อเรื่อง การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์นี้ ผู้แสดงเป็นเทวดาจะต้องสามารถรำหน้าพาทย์ได้ทุกเพลง และฝ่ายปี่พาทย์ก็จะต้องรู้ท่ารำ เพราะจะต้องหยุดลงในท่ารำที่จะทำให้เกิดความขบขันได้

กระอั้วแทงควาย




กระอั้วแทงควาย เป็นการละเล่นของชาวทวายหรือพม่า มอญ ตามตำนานกล่าวว่า นางกระอั้วฝันว่าได้กินแกงตับควายอย่างเอร็ดอร่อย จึงรบเร้าตาโสผู้สามี ให้ไปหาตับควายมาแกง ทั้งสองจึงเข้าป่าไปแทงควาย มีโคลงครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงการเล่นกระอั้วแทงควายว่า


จรีกางห่มหอกเลื่อง แทงเขน

สองประยุทธยืนยัน ย่องย้อง

นางกระอั้วเพ่งผัวเอน ควายเสี่ยว

สองประจันมือจ้อง จ่อแทง


ชื่อการเล่นเรียกว่า "กระอั้วแทงควาย" แต่ในการเล่นนั้น สามีเป็นผู้ต่อสู้กับควาย หรืออาจเป็นไปได้ว่าขณะที่ตาโสผู้สามีกำลังต่อสู้กับควายชุลมุนอยู่ นางกระอั้วเห็นได้ทีก็เลยแทงควายตายก็เป็นได้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า กระอั้วเป็นสามีนางกระแอ ชื่อกระอั้ว และกระแอเป็นภาษาทวาย ดังนั้นกระอั้วแทงควายจึงตรงกับ การเล่นนี้มากกว่าตำนานทางไทย
ผู้เล่นกระอั้วแทงควายจะมี 4 คน คือ ตากระอั้ว นางกระแอ และควาย (มีคนอยู่ตอนหัวเป็นขาหน้าคนหนึ่ง และอยู่ตอนท้ายเป็นขาหลังอีกคนหนึ่ง) การแต่งกาย นางกระอั้วสวมเสื้อกระเหรี่ยงยาว ชายเสื้อถึงน่อง เกล้าผมสูง ถือหอกใบกว้างทำด้วยกระดาษ นางกระแอนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มผ้าแถบสีแดงห้อยบ่า ผัดหน้าขาว แต้มไฝเม็ดใหญ่ สวมผมปีกหรือเกล้าผมสูง กระเดียดกระทาย ถือร่ม การแสดงมุ่งตลกขบขันเป็นสำคัญ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า "ดูเป็นเล่นจำอวดอย่างต่ำ" แสดงการล่อ ไล่ ต่อสู้ และหลบหลีก ในที่สุดก็ฆ่าควายได้ จึงผ่าท้องเอาตับไป
*****************