Tuesday, December 11, 2007

การแสดงเบญจพรรณ

การแสดงเบญจพรรณหรือเทวดาเบญจพรรณ
คำว่า "เบญจพรรณ" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไว้ว่า "แม่สีทั้งห้า คือ ขาว ดำ เหลือง เขียวแดง, ห้าชนิด, หลายอย่าง, เรียกต้นไม้ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกัน"
คำแปลที่ว่า หลายอย่าง" นั้น ในที่นี้ตรงกับความหมายในด้านการแสดงมหรสพ เมื่อพูดถึงคำว่าเบญจพรรณแล้วย่อมเป็นที่รู้กันวงศิลปินสมัยก่อนทุกท่าน ว่าหมายถึงการแสดงหลายๆอย่าง ที่นำมาระคนเข้าในที่อันเดียวกัน เช่นการแสดงเป็นตัวเทวดาของตัวตลกละครหรือลิเก ก็มักจะแทรกการแสดงเบญจพรรณเพื่อความตลกขบขันในตอนนี้ การแสดงเบญจพรรณของตัวเทวดาตลกนี้ ตามแบบแผนโบราณมีอยู่ ๒ ชนิด คือ "เบญจพรรณร้อง" และ "เบญจพรรณหน้าพาทย์"
การแสดงเบญจพรรณร้อง มีวิธีแสดงดังนี้ ตัวเทวดาตลก ซึ่งมักแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันวิตถาร เพื่อจูงใจให้เกิดความขบขันตั้งแต่แรกเห็น เช่นนุ่งผ้าเกี้ยวหยักรั้งสวมสังวาลกับตัวเปล่าอย่างละครโนห์ราชาตรีโบราณ สวมชฎาเก่าๆหักๆ และต่อยอดด้วยสิ่งที่มีรูปลักษณะน่าเกลียดต่างๆ เช่น กระจ่า เป็นต้น ใช้ฝุ่นผัดหน้าป้ายลงมาตรงกลางตั้งแต่หน้าผากตลอดคางเป็นทางยาว ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ออกมายืนบนเตียงหน้าฉากแล้ว (เทวดาตลกมักไม่นั่งเหมือนตัวอื่นๆ เพราะการยืนสามารถทำบทบาทได้มากกว่า) ก็จะร้องเพลงโนเน ซึ่งมักมีบทว่า "จะกล่าวถึงเทวาสุราฤทธิ์ ..." การร้องเพลงโนเนนี้ โดยปกติลูกคู่จะต้องรับเป็นทำนองซึ่งมีบทว่า "โนเนโนช้า ไม่รักไม่มาเลยเอย" แต่ลูกคู่ก็หารับเพลงนั้นไม่ แกล้งไปรับเสียเป็นเพลงอื่น เช่น แกล้งรับเป็นทำนองญวนว่า "เฮ้ว เฮ้วกวางกะย่อฮ่อกวาง..." เป็นต้น ตัวเทวดาก็จะต่อว่าลูกคู่หาว่ารับผิดเพลง พวกลูกคู่ก็จะตอบว่า "หางเสียงแหย่ไปเพลงนั้นนี่" ตัวเทวดาก็ตกลง เปลี่ยนไปร้องเพลงญวนตามที่ลูกคู่ได้ร้องรับไปแล้วนั้น แต่ลูกคู่ก็เปลี่ยนไปรับเพลงอื่นเสียอีก เช่น แกล้งรับเป็นทำนองลาวว่า "จ้อยแม่นาสูกำพร้าเรียมเอย..." เป็นต้น เทวดาก็ต่อว่าอีก ลูกคู่ก็แก้ว่าหางเสียงแหย่ไปอย่างนั้นอีก ตัวเทวดาจะต้องร้องตามเพลงที่ลูกคู่ร้องรับนั้นทุกๆเพลง และลูกคู่ก็แกล้งรับเชือนไปเสียทุกๆเพลง ซึ่งผู้แสดงเทวดาตลกออกเบญจพรรณร้องนี้ จะต้องสามารถร้องเพลงเบ็ดเตล็ดได้มากพอที่จะร้องตามลูกคู่ได้ เมื่อเปลี่ยนร้องเพลงไปหลายเพลงพอสมควรแล้ว ตัวเทวดาก็ทำโกรธเลิกร้อง บอกปี่พาทย์ให้ทำเพลงเชิดทีเดียว ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปเล่นเบญจพรรณหน้าพาทย์ต่อไป
การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์ เป็นการเล่นระหว่างเทวดาตลกกับปี่พาทย์ เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงเชิดให้เทวดาไป ตัวเทวดารำทำท่าเชิดไปได้สักเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน ตัวเทวดาก็รำย่อตัวลงไปๆ และทำประหนึ่งพยายามสดับเสียงเพลง หรือเที่ยวหาปี่พาทย์ตามใต้เสื่อใต้เตียงบ้าง ครั้นแล้วปี่พาทย์ก็ตีกระโชกดังขึ้นดังเดิม ตัวเทวดาก็สะดุ้งตกใจรำถลาไป แล้วปี่พาทย์ก็ตีให้เบาลงเช่นเดิมอีก ต่อจากนั้นปี่พาทย์จะหยุดชะงัก จนตัวเทวดารำค้างแทบยั้งไม่ทัน ครั้นตัวเทวดาต่อว่า และอ้อนวอนขอให้ปี่พาทย์ทำต่อไป ปี่พาทย์ก็จะเปลี่ยนเป็นทำนองเพลงลงสรง พอตัวเทวดาต่อว่า ทางปี่พาทย์ก็บอกว่าจะไปไหนก็ต้องอาบน้ำเสียก่อน เทวดาก็ต้องรำเพลงลงสรงไปตามเพลง พอถึงท่ากอบน้ำขึ้นจะบ้วนปาก ปี่พาทย์ก็หยุดให้รำค้างอยู่เพียงนั้น ครั้นเทวดาต่อว่ากันเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น เช่น กราวในบ้าง กราวนอกบ้าง และหยุดในท่าสำคัญๆที่จะทำให้ยืนไม่อยู่ทั้งนั้น เช่น ท่ารำที่กำลังยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เทวดาก็ต้องรำตามหน้าพาทย์นั้นทุกเพลง ในตอนท้ายปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงทยอยสลับกับโอด ตอนแรกๆก็สลับกันห่างพอสมควร แต่ท้ายที่สุดก็สั้นและเร็วเข้า เป็นโอดหน่อยทยอยนิด จนตัวเทวดารำไม่ทัน ในที่สุดปี่พาทย์ก็ทำเพลงเชิดให้ไปได้ตามเนื้อเรื่อง การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์นี้ ผู้แสดงเป็นเทวดาจะต้องสามารถรำหน้าพาทย์ได้ทุกเพลง และฝ่ายปี่พาทย์ก็จะต้องรู้ท่ารำ เพราะจะต้องหยุดลงในท่ารำที่จะทำให้เกิดความขบขันได้

No comments: